สาเหตุของการโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
1. เมื่อถึงเวลาที่ต้องยื่นเสียภาษีแล้วแต่ไม่ยื่น
2. รายงานหรืองบการเงินที่นำส่งกับทางสรรพากรมีความผิดปกติ
เนื่องจากอาจจะมีความผิดปกติในงบบางอย่างที่เจ้าของธุรกิจเองไม่ทราบ ทำให้กรมสรรพากรต้องเข้ามาตรวจสอบย้อนหลังนั่นเอง
ประเด็นที่ทำให้สรรพากรให้เข้ามาตรวจสอบ และหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรใช้ในการตรวจสอบ
▶ อัตราส่วนทางการเงิน
▶ ค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายโดยอ้างอิงจากข้อมูลในปีก่อน ๆ หรือเปรียบเทียบกับประเภทธุรกิจเดียวกัน ว่ามีค่าใช้จ่ายอยู่ใน Range เท่าไร อย่างไร
▶ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความรู้ และต้องสังเกตเมื่อต้องลงลายมือชื่อรับรองงบการเงิน การยื่นชำระภาษี เพราะถ้านำส่งเรียบร้อยแล้วจะค่อนข้างยากที่จะแก้ไขในภายหลัง
เนื่องจากในอดีตจะเป็นการยื่นแบบกระดาษ จึงใช้เวลานานในการตรวจสอบ เฉลี่ย 3 – 4 ปี ส่งผลให้ข้อมูลที่ถูกตรวจสอบกว่าจะถึงเจ้าของธุรกิจเกิดความล่าช้า และทำให้เกิดดอกเบี้ย เรียกว่า “เงินเพิ่ม” ในอัตรา 1.5% ต่อเดือน ฉะนั้นถ้าสรรพากรเข้ามาตรวจสอบมักจะไม่ค่อยกลับไปมือเปล่ามักจะได้ตัวภาษีที่ต้องการบวกกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มติดไปด้วย
แต่ในปัจจุบัน กรมสรรพากรมีการเปลี่ยนนโยบายในการตรวจสอบ โดยสามารถยื่นงบผ่าน E-filing และระบบสามารถประมวลอัตราส่วน ความผิดปกติ จะมีการให้คะแนน และจะเป็นรายงานมาว่ามีความเสี่ยงอะไร อย่างไรบ้าง
สามารถถูกเรียกตรวจสอบภาษีย้อนหลังได้กี่ปี ?
สำหรับผู้เสียภาษีเงินได้ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ที่ได้มีการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีอย่างไม่ถูกต้องตามจริง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ สรรพากรมีสิทธิประเมินและออกหมายเรียกภายใน 2 ปี นับจากวันที่มีการยื่นแบบแสดงรายการ
นอกจากนี้สรรพากรอาจประเมินเพื่อยืดระยะการตรวจสอบย้อนหลังอีกด้วย (ในกรณีที่ผู้ยื่นแบบแสดงรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี) โดยจะยืดระยะออกมาเป็น 5 ปีแทน
ในกรณีที่ไม่เคยยื่นแบบแสดงเลย สรรพากรมีสิทธิเรียกตรวจสอบย้อนหลังได้ในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
วิธีรับมือ
1. ต้องรู้ว่าประเด็นที่กรมสรรพากรเรียกพบ ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
2. ดูข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร และเตรียมเอกสารให้พร้อม
ยกตัวอย่างเช่น กรมสรรพากรตรวจเจอในรายการกรรมการบริษัทให้บริษัทกู้ยืมเงิน 100 ล้านบาท โดยที่กรรมการได้รับเงินเดือน เดือนละ 1 แสนบาท เฉลี่ยต่อปีกรรมการฯมีรายได้ 1,200,000 บาท จึงเกิดความน่าสงสัย สิ่งที่ต้องเตรียมคือ ตรวจสอบว่าเริ่มบันทึกบัญชีการกู้ยืมเมื่อไหร่ และขณะบันทึกบัญชีมีหลักฐานการนำเงินเข้าบริษัทหรือไม่ ถ้าไม่มีควรรับมือแบบไหน ถ้าไม่มีหลักฐานควรจะเตรียมเอกสารบางอย่างขึ้นมา เช่น รายงานการประชุม เป็นต้น สำหรับบางเรื่องที่สุดวิสัยที่จะจัดเตรียมเอกสารย้อนหลัง ก็จะต้องเตรียมเงิน หรือการเจรจาต่อรองกับสรรพากรไว้ค่ะ
เทคนิคลดความเสี่ยงในการถูกกรมสรรพากรเรียกตรวจสอบ
1. เจ้าของธุรกิจควรมีความรู้ในเรื่องงบการเงิน และควรตรวจสอบทุกครั้งก่อนลงลายมือชื่อรับรองเอกสารใดๆก็ตาม
2.เลือกเจ้าหนี้บัญชีที่มีคุณภาพ
3. สุดท้าย ถ้าไม่มั่นใจในงบการเงินและการทำงานของบัญชีแนะนำให้หันหน้าเข้าหาที่ปรึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรงผู้ซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ไม่มีส่วนได้เสีย