แผนการ IPO และ M&A สองวิธีกลยุทธ์วางแผนเกษียณ เพื่ออนาคตของธุรกิจที่ยั่งยืน เมื่อรู้สึกอิ่มตัวหรือต้องการเกษียณจากธุรกิจ การวางแผน Exit Plan ที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจของคุณลงจอดได้อย่างสวยงาม แต่ Exit Plan แผนไหนกันล่ะที่จะเหมาะสมและน่านำมาใช้กับธุรกิจของคุณ IdolPlanner จึงพามาทำความรู้จักกับ 2 แผน Exit Plan ที่เจ้าของธุรกิจเลือกใช้มากที่สุด
การ IPO หรือการ Initial Public Offering เป็นการที่บริษัทเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุน ทำให้เกิดการแปรสภาพจากบริษัทจำกัด สู่ บริษัทมหาชน การ IPO นี้ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการวางแผน Exit Plan ซึ่งการ IPO เกิดขึ้นได้หลายเหตุผลประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการระดมทุนเพื่อขยาย Scale ธุรกิจ การเพิ่มความน่าเชื่อถือหรือชื่อเสียงของธุรกิจ หรือแม้กระทั่งต้องการดึงมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหาร
เนื่องจากการที่จะสามารถทำการ IPO เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้นั้น จำเป็นจะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับพิจารณาคุณสมบัติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเสียก่อน โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาการเข้า IPO สู่ตลาดหลักทรัพย์นั้นประกอบด้วยหลายหลักเกณฑ์ด้วยกัน เช่น โครงสร้างผู้ถือหุ้น คุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหาร งบการเงิน รวมถึงระบบการทำงานภายในองค์กรธุรกิจของคุณ
แนวทางในการเตรียมตัวเพื่อสำหรับ IPO
- การเตรียมความพร้อมงบการเงิน (Financial Audit)
ทำบัญชีให้ถูกต้องและโปร่งใส การจัดทำงบการเงินต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและหน่วยงานกำกับดูแล มีการปรับปรุงงบการเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด - การปรับโครงสร้างองค์กร (Corporate Restructuring)
การปรับโครงสร้างการถือหุ้น อาจต้องมีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นหรือการสร้างความชัดเจนในเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่เหมาะสม การจัดตั้งคณะกรรมการบริษัทที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ยอมรับจากสาธารณะ - การวางแผนธุรกิจและกลยุทธ์ (Business Planning and Strategy)
การวางแผนธุรกิจที่ชัดเจน การกำหนดเป้าหมายระยะยาว กลยุทธ์ในการเติบโต และวิธีการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนักลงทุน - เตรียมระบบการควบคุมภายใน (Internal Control)
ความถูกต้องและความโปร่งใสของการเงิน การควบคุมการทำธุรกรรมและการรายงานทางการเงินช่วยป้องกันข้อผิดพลาดและการทุจริต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือก่อนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีการจัดการความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ การวางระบบควบคุมภายในเพื่อระบุและจัดการกับความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัท เช่น ความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน และความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย - การเลือกที่ปรึกษา (Selecting Advisors)
ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) มีหน้าที่ศึกษาข้อมูลบริษัทเพื่อให้คำแนะนำและเตรียมการต่างๆ ในการยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผู้สอบบัญชี (Auditor) มีหน้าที่ในการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข้อมูลทางการเงินของบริษัท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและหน่วยงานกำกับดูแล โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ด้วย ที่ปรึกษาทางการเงินและกฎหมาย: บริษัทควรมีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในกระบวนการ IPO เพื่อช่วยนำทางและให้คำแนะนำที่เหมาะสม
ประโยชน์ของการ IPO
การทำ IPO นั้นเกิดประโยชน์ที่แบ่งออกได้เป็น 2 ด้าน คือด้านของตัวธุรกิจที่เปิดการ IPO และด้านของนักลงทุน กล่าวคือ ในด้านของตัวธุรกิจจะได้รับผลประโยชน์ในเรื่องการขยายธุรกิจให้เกิดการเติบโตมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสามารถสร้างชื่อเสียงและเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของคุณ และประโยชน์สำหรับนักลงทุนจะเป็นในรูปแบบผลตอบแทนตามสัดส่วนของหุ้นตามที่ถือไว้ ดังนั้นการจองซื้อหุ้นก่อนเข้าตลาดและซื้อหุ้น IPO ในตลาดเมื่อหุ้นนั้นเข้ามาซื้อขายแล้ว จึงมีผลต่อจำนวนและราคา
สำหรับอีกหนึ่งแผนการ Exit คือการทำ M&A (Mergers and Acquisitions) โดยแผนการ M&A หรือ Mergers and Acquisitions เป็นการควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน ซึ่งประกอบไปด้วย 2 คำ คือ Mergers เป็นการที่บริษัทตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไปทำการควบรวมเข้าด้วยกัน และจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา 1 บริษัท โดยบริษัทที่ควบรวมนั้นจะกลายเป็นเจ้าของบริษัทใหม่ร่วมกัน Acquisitions เป็นการที่บริษัท A เข้าซื้อบริษัท B โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
- Share Acquisition หมายถึง การที่ผู้ซื้อเข้ามาซื้อหุ้นบางส่วนหรือทั้งหมด
- Asset Acquisition หมายถึง การที่ผู้ซื้อเข้ามาซื้อทรัพย์สิน, หน่วยธุรกิจบางส่วนหรือทั้งหมด
ทำไมการทำ M&A จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มธุรกิจ ?
เป็นที่รู้กันดีว่าการควบรวมบริษัทหลายแห่งเข้าไว้ด้วยกันผลประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เพิ่มการเจริญเติบโตให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบรวมธุรกิจประเภทเดียวกัน เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่เดิมแล้ว ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการพัฒนาสินค้า ประชาสัมพันธ์ รวมถึงการจ้างพนักงาน และอีกหนึ่งข้อดีของการ M&A คือสามารถช่วยให้บริษัทอยู่รอดได้ในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น บริษัทขนาดใหญ่ A เข้าทำการควบรวมกิจการกับบริษัทขนาดเล็ก B โดยในบริษัท B อาจประสบปัญหาด้านการเงินอยู่ แต่ไม่ได้ขาดตกบกพร่องในเรื่องของคุณภาพสินค้า ทักษะความรู้ของพนักงาน การควบรวมในครั้งนี้จึงทำให้บริษัท B สามารถมีโอกาสดำเนินกิจการต่อไปได้ในอนาคต จากการเข้ามาควบรวมของบริษัท A โดยรูปแบบการควบรวมประกอบด้วย 3 ลักษณะ ดังนี้
1.การควบกิจการแบบแนวนอน - เป็นการควบรวมกิจการในประเภทเดียวกัน
2.การควบกิจการแบบแนวตั้ง - เป็นการควบรวมกิจการที่มีห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และจัดการกระบวนการภายในได้ง่ายขึ้น
3.การควบกิจการแบบไม่มีความสัมพันธ์กัน - เป็นการควบรวมกิจการคนละประเภท นอกจากจะเป็นการสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจใหม่แล้ว ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงของรายได้ เพื่อไม่ให้รายได้มาจากธุรกิจประเภทเดียวกันเพียงอย่างเดียว
ประโยชน์ของการทำ M&A สำหรับ Exit Plan
การควบรวมและการซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions หรือ M&A) เป็นกลยุทธ์ที่ทรงพลังสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ต้องการสร้าง Exit Plan ที่มีประสิทธิภาพและมูลค่าสูงสุด Exit Plan เป็นกระบวนการที่เจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นขายกิจการหรือหุ้นส่วนใหญ่เพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ทำไว้ และ M&A นับเป็นหนึ่งในวิธีการที่ให้ประโยชน์มากมาย ดังนี้:
- การเพิ่มมูลค่าของธุรกิจ
การควบรวมกับบริษัทอื่นหรือการขายกิจการให้กับผู้ที่มีศักยภาพสามารถทำให้มูลค่าของธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมาก บริษัทที่ซื้อกิจการอาจมองเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เทคโนโลยี หรือตลาดใหม่ ๆ ที่ธุรกิจของคุณมี ซึ่งทำให้สามารถเสนอราคาที่สูงกว่าการขายแบบปกติได้ - การลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นคง
M&A ช่วยลดความเสี่ยงสำหรับเจ้าของธุรกิจที่ต้องการออกจากกิจการ เมื่อขายธุรกิจให้กับบริษัทใหญ่หรือกลุ่มทุนที่มีความมั่นคง จะช่วยให้มีการบริหารจัดการที่ต่อเนื่องและเสถียร ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในตลาด - การเพิ่มโอกาสในการเติบโต
สำหรับผู้ที่ยังคงถือหุ้นบางส่วนหลังการ M&A การเข้าร่วมกับบริษัทหรือกลุ่มทุนที่มีศักยภาพสามารถนำไปสู่โอกาสในการเติบโตที่รวดเร็วและขยายตลาดใหม่ ๆ ทำให้เกิดผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต - การสร้างทางออกที่ราบรื่นและรวดเร็ว
การใช้ M&A เป็นส่วนหนึ่งของ Exit Plan ช่วยให้กระบวนการขายกิจการเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากมีการวางแผนและดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ และโดยปกติทางผู้ซื้อมักมีความพร้อมในการช่วยดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ทำการขายอยู่แล้ว ทำให้ผู้ที่ขายหุ้นทั้งหมดหรือบางส่วน สามารถวางใจในการมีคนมารับช่วงต่อและบริหารธุรกิจตัวเองต่อแทน
จากเนื้อหาข้างต้นจะพบว่ากลยุทธ์การวางแผน Exit Plan ทั้งวิธีการ IPO และการทำ M&A มีประโยชน์ไม่ต่างกันทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งการที่จะวางแผน Exit Plan และเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งจำเป็นจะต้องเข้าใจสภาพ ลักษณะ รวมถึงปัญหาของธุรกิจตัวเอง เพื่อจะได้เลือกใช้แผนการที่เหมาะสมกับธุรกิจมากที่สุด ยิ่งถ้าได้รับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ก็จะสามารถวางแผน Exit Plan ให้แก่ธุรกิจของคุณได้อย่างราบรื่น และไม่เป็นกังวลหลังจากทำการเกษียณออกไปแล้ว
สำหรับท่านที่ต้องการสอบถามหรือรับคำปรึกษาเบื้องต้น
สามารถกรอกรายละเอียดได้ที่ฟอร์มแนบ
https://forms.gle/YMvaxRmnpqiNUGdVA
หรือติดต่อตามช่องทางที่ปรากฎไว้ดังนี้
Line : @idolplanner
Tel : 02-010-8823