#สืบสันดาน101 : พินัยกรรมสำคัญอย่างไรต่อธุรกิจครอบครัว

พินัยกรรมสำคัญอย่างไรต่อธุรกิจครอบครัว

หนึ่งซีรีย์นํ้าดีฝีมือคนไทย ที่ตีแผ่เรื่องราวชนชั้นทางสังคมที่เป็นกระแสอย่างมากในขณะนี้คงหนีไม่พ้น “สืบสันดาน” วันนี้ IdolPlanner จึงอยากพาทุกคนมาแกะเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในซีรีย์เรื่องนี้ผ่าน บทความชุด #สืบสันดาน101

หากคุณเป็นผู้ที่ชื่นชอบในการดูซีรีย์แนวสังคม และกำลังทำธุรกิจโดยมีระบบกงสีเป็นพื้นฐาน สามารถพูดได้เต็มปากเลยว่าซีรีย์เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณไม่มากก็น้อย หนึ่งในหัวข้อที่น่าหยิบยกขึ้นมาให้ความรู้คือ “พินัยกรรม” ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในซีรีย์เรื่องนี้เลยก็ว่าได้

พินัยกรรม คืออะไร ?

หนึ่งสิ่งในการส่งต่อมรดกที่มีความสำคัญคือ การทำพินัยกรรม เพราะเป็นการระบุความชัดเจนของทรัพย์สินหลังจากที่ผู้ทำพินัยกรรมได้เสียชีวิตลงไปแล้ว โดยทรัพย์สินแต่ละอย่างจะระบุว่าใครได้รับทรัพย์สินในส่วนใดบ้าง

พินัยกรรมจึงเป็นเอกสารที่มีผลทางกฎหมายในแง่ของการโอน มอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในพินัยกรรม โดยมีความคล้ายกับหนังสือสัญญาที่สามารถทำได้หลายรูปแบบตามความต้องการของผู้ทำพินัยกรรม ประกอบไปด้วย 5 รูปแบบดังนี้

1.พินัยกรรมแบบธรรมดา เป็นการทำพินัยกรรมด้วยการเขียนหรือพิมพ์ข้อความลงบนกระดาษ พร้อมทั้งแจกแจงรายละเอียด และที่สำคัญต้องระบุวัน เดือน ปีที่ทำให้ชัดเจน โดยวิธีการแบบนี้ผู้ทำพินัยกรรมจำเป็นจะต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน และพยาน 2 คนจะต้องลงลายมือชื่อเพื่อรับรองการทำพินัยกรรมในขณะที่กำลังทำอยู่

2.พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งหมด การทำพินัยกรรมในรูปแบบนี้ถือว่าเป็นการทำพินัยกรรมที่มีวิธีที่ง่ายที่สุดเนื่องจากเป็นการทำพินัยกรรมโดยผู้ทำเขียนขึ้นด้วยตัวเองจึงไม่จำเป็นต้องมีพยาน โดยมีวิธีการคือ ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนพินัยกรรมด้วยลายมือของตัวเองทั้งฉบับ และจะต้องระบุวัน เดือน ปีที่ทำพินัยกรรมให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องลงลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมด้วย ซึ่งในกรณีนี้การทำพินัยกรรมสามารถรับรู้ได้หากมีพยานหรือไม่มีก็ได้

3.พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง การทำพินัยกรรมในรูปแบบนี้จะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยผู้ทำพินัยกรรมจำเป็นจะต้องไปแจ้งความประสงค์ในการทำพินัยกรรมพร้อมทั้งระบุข้อความที่ต้องการใส่ในพินัยกรรมของตัวเองให้กับเจ้าพนักงาน ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ พร้อมพยานอย่างน้อย 2 คน หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่พนักงานจะบันทึกข้อความตามที่ได้รับแจ้ง และอ่านข้อความให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง หากถูกต้องและครบถ้วน ผู้ทำพินัยกรรมพร้อมพยานจะลงลายมือชื่อ ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่พนักงานจะลงลายมือชื่อและระบุวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมพร้อมทั้งประทับตราตำแหน่ง

4.พินัยกรรมแบบเอกสารลับ ผู้ทำพินัยกรรมจะทำพินัยกรรมด้วยการเขียนหรือพิมพ์ข้อความก็ได้พร้อมทั้งลงลายมือชื่อตัวเอง หลังจากนั้นจะทำการปิดเอกสารพินัยกรรมและลงลายมือชื่อทับบนผนึกเอกสารอีกครั้ง จึงจะนำเอกสารพินัยกรรมฉบับนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานพร้อมกับพยานอย่างน้อย 2 คน โดยแจ้งให้ทราบว่าเอกสารพินัยกรรมฉบับนี้เป็นของใคร หลังจากนั้นเจ้าพนักงานจะบันทึกข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งและลงวัน เดือน ปีที่ทำพินัยกรรมบนซอง พร้อมกับประทับตราตำแหน่ง ผู้ทำพินัยกรรม พยานและเจ้าพนักงานต้องลงลายมือชื่อบนซองที่ปิดผนึกอีกครั้ง

5.พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา การเลือกทำพินัยกรรมในรูปแบบนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ทำพินัยกรรมไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น เจ็บป่วยรุนแรงจนไม่สามารถเขียนหรือลงนามได้ ซึ่งในกรณีนี้ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแสดงเจตนาทำพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน พยานจะต้องรับฟังข้อความ และแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ราชการโดยเร็วที่สุด โดยแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมสั่งให้ด้วยวาจา พร้อมกับระบุวัน เดือน ปี และสถานที่ที่ทำพินัยกรรม เจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อความที่ได้รับแจ้ง และให้พยานที่มาแจ้งลงลายมือชื่อ โดยต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คนลงลายมือชื่อเพื่อรับรอง

จากเนื้อหาข้างต้นจะพบว่าการทำพินัยกรรมมีหลากหลายรูปแบบเพื่อให้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ทำพินัยกรรมทั้งสภาพร่างกายแข็งแรงและอยู่ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน และในเมื่อการทำพินัยกรรมมีหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้จัดทำแล้ว เคยสงสัยไหมว่าการทำพินัยกรรมเหมาะกับครอบครัวแบบไหน สามารถทำได้ทุกครอบครัวจริงหรือ ถ้าหากจำนวนสมาชิกครอบครัวน้อยจะมีประโยชน์เหมือนกับครอบครัวที่มีจำนวนเยอะหรือเปล่า

พินัยกรรมเหมาะกับครอบครัวแบบไหน ?

การทำพินัยกรรมเหมาะสมกับครอบครัวทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวขนาดเล็กหรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางทรัพย์สินและความต้องการในการจัดการทรัพย์สินหลังจากเจ้าของพินัยกรรมเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบางประการที่ทำให้ความสำคัญของพินัยกรรมแตกต่างกันไปตามขนาดของครอบครัว

1. ครอบครัวขนาดเล็ก

  • ความชัดเจนในการแบ่งทรัพย์สิน: สำหรับครอบครัวขนาดเล็ก พินัยกรรมสามารถช่วยให้การแบ่งทรัพย์สินเป็นไปอย่างชัดเจน ลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในครอบครัว
  • การดูแลสมาชิกในครอบครัว: หากครอบครัวมีสมาชิกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือบุคคลที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ การทำพินัยกรรมช่วยให้แน่ใจได้ว่าจะมีการจัดการดูแลอย่างเหมาะสมหลังจากเจ้าของพินัยกรรมเสียชีวิต

2. ครอบครัวขนาดใหญ่

  • การจัดการทรัพย์สินที่ซับซ้อน: ครอบครัวขนาดใหญ่มักมีทรัพย์สินและทรัพย์สินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ธุรกิจครอบครัว อสังหาริมทรัพย์ หรือการลงทุน พินัยกรรมสามารถกำหนดแนวทางการจัดการและการแบ่งปันทรัพย์สินอย่างชัดเจน เพื่อลดความขัดแย้งและความยุ่งยากในการจัดการทรัพย์สิน
  • การป้องกันความขัดแย้งในครอบครัว: ในครอบครัวขนาดใหญ่ ความขัดแย้งในการแบ่งทรัพย์สินมักเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า การทำพินัยกรรมจะช่วยลดความขัดแย้งเหล่านี้ โดยการกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินตามความต้องการของเจ้าของพินัยกรรม หรือหากมีการพูดคุยถึงเจตจำนงของเจ้าของพินัยกรรมขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จะทำให้ทายาทเกิดความเข้าใจและอาจยอมรับในเจตจำนงได้มากกว่ามาทราบหลังเสียชีวิตแล้ว

พินัยกรรมจะเปิดได้ตอนไหน ?

เมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้เสียชีวิตลง  นอกจากทรัพย์สินและมรดกจะตกทอดแก่ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมายซึ่งเรียกว่า “ทายาทโดยธรรม” แล้ว ทรัพย์สินและมรดกของผู้ตายยังสามารถตกทอดไปยังบุคคลอื่นได้โดยทางพินัยกรรมซึ่งเรียกว่า “ทายาทโดยพินัยกรรม” ดังนั้นเมื่อได้จัดทำพินัยกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว พินัยกรรมจะมีผลหลังจากที่ผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตลง เนื่องจากพินัยกรรมเป็นนิติกรรมซึ่งจัดอยู่ในประเภทนิติกรรมฝ่ายเดียว กล่าวคือ ย่อมสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมเมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ทำพินัยกรรมถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยไม่ต้องการเจตนาการยอมรับจากผู้รับพินัยกรรม

ข้อควรรู้ในการเขียนพินัยกรรม !

การเขียนพินัยกรรมไม่ได้มีวิธีการที่ซับซ้อนมากนักเพียงแต่ต้องทราบเกี่ยวกับรายละเอียดที่ขาดไม่ได้ โดยพินัยกรรมเป็นนิติกรรมที่ต้องทำตามแบบที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งจะต้องเขียน วัน เดือน ปี ลงลายมือชื่อทั้งผู้ทำพินัยกรรมและผู้ที่เป็นพยาน โดยผู้ที่เป็นพยานจะต้องไม่เป็นผู้เยาว์หรือผู้หย่อนความสามารถ และต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย รวมทั้งผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป พินัยกรรมควรจะตั้งผู้จัดการมรดกโดยสามารถระบุผู้ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกที่เจ้ามรดกไว้ใจลงในพินัยกรรมไปได้เลย สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ก็สามารถกำหนดในพินัยกรรมได้เช่นกัน

นอกจากนี้ทรัพย์สินที่ระบุในพินัยกรรมต้องเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น ทั้งต้องแยกสินส่วนตัวออกจากสินสมรสด้วย เงินประกันชีวิต เงินบำเหน็จตกทอด เงินมีบำนาญตกทอด เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ตกทอด จะไม่สามารถเป็นมรดกที่ระบุลงในพินัยกรรมได้ เนื่องจากไม่ใช่ทรัพย์ที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนตาย

การทำพินัยกรรม เพื่อแสดงให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของจัดทำพินัยกรรม กฎหมายจึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์การทำพินัยกรรมไว้เป็นพิเศษซึ่งแตกต่างจากการทำนิติกรรมสัญญาอื่น ๆ และหากพินัยกรรมฉบับใดกระทำขึ้นโดยผิดหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ พินัยกรรมฉบับนั้นอาจตกเป็นโมฆะ
จากเนื้อหาทั้งหมดที่กล่าวมา พินัยกรรมเป็นการระบุความชัดเจนของทรัพย์สินหลังจากที่ผู้ทำพินัยกรรมได้เสียชีวิตลงไปแล้ว โดยทรัพย์สินแต่ละอย่างจะระบุว่าใครจะเป็นผู้ดูแล ใครได้รับทรัพย์สินในส่วนใดบ้าง การทำพินัยกรรมมีหลายรูปแบบและแต่ละรูปแบบก็มีสิ่งที่สำคัญแตกต่างกันไป ซึ่งพินัยกรรมจะมีผลบังคับใช้หลังจากผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตลงไปแล้ว ซึ่งหากทรัพย์สินมีจำนวนมาก หรือมีทายาทมากกว่า 1 คน หรือมีความซับซ้อน เช่น ระหว่างหุ้น กับอสังหาจึงแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัว เพราะการแบ่งมรดกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่ได้มีเพียงแค่การแบ่ง หรือทรัพย์สินบางอย่างไม่สามารถหารให้เท่ากันได้ ดังนั้นการมองหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษาและแนะนำจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ

ติดต่อเราบริษัท Idol Planner Consulting ตอนนี้เลย

ผู้นำด้านการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัว-กงสี คืองานถนัดของเรา

บริษัท ไอดอลแพลนเนอร์ จำกัด พร้อมช่วยสร้างความชัดเจนและความเป็นมืออาชีพให้กับธุรกิจครอบครัว ด้วยโซลูชั่นที่ออกแบบมาเพื่อธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะ พันธกิจของเราคือการช่วยเหลือให้ธุรกิจของครอบครัวคุณเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นปึกแผ่นให้กับครอบครัวของคุณ