ไหน! ใครคือผู้โชคดีคนนั้นที่จะแต่งงานเร็ว ๆ นี้ นอกจากทะเบียนสมรสแล้ว คู่สมรสทราบกันไหมว่าเรามีสิ่งที่เรียกกันว่า “สัญญาก่อนสมรส” ด้วยนะ วันนี้ Idol Planner จึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับสัญญาตัวนี้ สัญญาก่อนสมรสคืออะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ควรทำหรือไม่ เรารวบรวมเนื้อหาไว้ให้แล้วในบทความนี้
สัญญาก่อนสมรสคืออะไร
หากให้แปลตามชื่อก็คือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนเกิดการสมรส แต่ถ้าอธิบายให้ลึกซึ้งกว่าเดิม เจ้าตัวนี้คือสัญญาที่จัดทำขึ้นก่อนการสมรส ซึ่งเป็นการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส โดยเขียนเป็นข้อตกลงในสัญญาให้ชัดเจนเพื่อให้ทราบว่าทรัพย์สินก่อนสมรสของแต่ละฝ่ายมีอะไรบ้าง และทรัพย์สินนั้นเป็นของฝ่ายไหน ซึ่งสัญญาก่อนสมรสฉบับนี้เดิมทีนิยมทำกันในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันในไทยเริ่มมีความสนใจและทำสัญญาก่อนสมรสมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีทรัพย์สินมูลค่าสูง และคนที่มีหุ้นในธุรกิจครอบครัวอย่างระบบธุรกิจแบบกงสี
สัญญาก่อนสมรสทำอย่างไรถึงจะมีผลทางกฎหมาย
ตัวสัญญาก่อนสมรสเป็นสัญญาที่สามารถจัดทำขึ้นมาเองได้ โดยระบุรายละเอียดข้อตกลงและทรัพย์สินของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน หลังจากนั้นคู่สมรสเซ็นยินยอม พร้อมด้วยพยานอีก 2 คนเซ็นรับรอง และจึงนำสัญญาก่อนสมรสฉบับนี้จดร่วมกับทะเบียนสมรส โดยในทะเบียนสมรสส่วนท้ายต้องระบุถึงการมีอยู่หรือระบุว่าได้มีการจัดทำสัญญาก่อนสมรสด้วยเช่นกัน เพียงเท่านี้สัญญาก่อนสมรสก็มีผลใช้ในทางกฎหมายแล้ว ดังนั้นหากมีการทำสัญญาก่อนสมรสแต่ไม่ได้นำไปจดร่วมกับทะเบียนสมรสในวันเดียวกัน สัญญาก่อนสมรสฉบับนี้จะถือเป็นโมฆะไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งภายหลังหากคู่สมรสมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข บอกเลิก เพิกถอนก็สามารถทำได้แต่จำเป็นจะต้องมีหนังสือคำสั่งจากศาลเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไข บอกเลิก เพิกถอนสัญญาฉบับนี้ได้ตามอำเภอใจ
เมื่อมีสัญญาก่อนสมรสแล้วก็ต้องมีสัญญาระหว่างสมรส แล้วสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร แน่นอนว่าสัญญาระหว่างสมรสเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างสมรสกันอยู่ รายละเอียดภายในสัญญามีความเหมือนกันกับสัญญาก่อนสมรสทุกประการ ซึ่งจะมีจุดต่างกันตรงที่หากคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข บอกเลิก เพิกถอน สามารถดำเนินการทำได้เลยไม่จำเป็นจะต้องมีหนังสือคำสั่งจากศาล จุดนี้จึงทำให้เกิดความแตกต่างกันของสัญญาก่อนสมรสและสัญญาระหว่างสมรส
สัญญาก่อนสมรสหรือสัญญาระหว่างสมรส
จากเนื้อหาข้างต้นรายละเอียดของสัญญาทั้ง 2 ฉบับไม่ได้มีความแตกต่างกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าแล้วหากต้องการทำสัญญาที่มีเนื้อหาในทำนองนี้ ควรจะเลือกทำสัญญาก่อนสมรสหรือสัญญาระหว่างสมรสกันแน่ ดังนั้นหากทั้ง 2 ฝ่าย คู่สมรสมีทรัพย์สินเป็นทุนเดิมอยู่แล้วไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตามแต่ ควรทำสัญญาก่อนสมรส เพื่อประโยชน์ในอนาคตหลาย ๆ ด้านที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการจัดประเภททรัพย์สินของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจนตั้งแน่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการเสียเวลาเมื่อเกิดเรื่องขึ้นภายหลัง
สินส่วนตัวและสินสมรสคืออะไร ?
“สินส่วนตัว” หมายถึง ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทรัพย์สินที่ได้มาก่อนการจดทะเบียนสมรส โดยฝ่ายที่เป็นเจ้าของสามารถจัดการทรัพย์สินนั้นได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องถามความคิดเห็นหรือมีการตัดสินใจร่วมกันกับของอีกฝ่าย โดยสินส่วนตัวอาจประกอบไปด้วย ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนจะสมรส และต้องมีกรรมสิทธิ์ก่อนการจดทะเบียนสมรสจึงจะเป็นสินส่วนตัว ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น สร้อยคอ นาฬิกา เสื้อผ้า หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ
ไม่เพียงเท่านั้น ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาจากการรับมรดกหรือให้โดยเสน่หาก็ยังสามารถกลายเป็นสินส่วนตัวได้ โดยผู้ให้ต้องเจาะจงว่าให้กับใคร แม้จะได้รับมาหลังจากการจดทะเบียนสมรสแล้วก็ถือว่าเป็นสินส่วนตัว
“สินสมรส” หมายถึง ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากการจดทะเบียนสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าเช่าหรือดอกเบี้ยที่ได้รับจากทรัพย์สินส่วนตัว รวมทั้งทรัพย์สินส่วนตัวและมรดกที่ระบุไว้ว่าเป็นสินสมรสตั้งแต่ตอนจดทะเบียนสมรส โดยสินสมรสอาจประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
- ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส กล่าวคือ ทรัพย์สินทั้งหมดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำมาหาได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าอีกฝ่ายจะมีส่วนร่วมในการทำมาหาได้หรือไม่ เช่น เงินเดือน เงินบำนาญ ค่าชดเชยต่าง ๆ รางวัลลอตเตอรี่ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่หามาได้หลังจากจดทะเบียนสมรส ถือรวมเป็นสินสมรสทั้งหมด
- ทรัพย์สินจากพินัยกรรมโดยไม่ได้ระบุให้เป็นสินส่วนตัว กล่าวคือ หากได้รับมรดกหลังจากการจดทะเบียนสมรสแล้ว โดยต้องเกิดในกรณีที่ผู้ให้ไม่ได้ระบุว่าให้เป็นสินส่วนตัวเท่านั้น ถือว่ามรดกนั้นเป็นสินสมรส
- ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นดอกผลธรรมดาหรือดอกผลนิตินัย ถือเป็นสินสมรส ดอกผลธรรมดา ได้แก่ มีวัวแล้วแม่วัวออกลูก ลูกวัวถือเป็นดอกผล และเป็นสินสมรส ส่วนดอกผลนิตินัย ได้แก่ คอนโดปล่อยเช่า ค่าเช่าถือเป็นดอกผลนิตินัย และเป็นสินสมรส เป็นต้น
กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้มาหลังการจดทะเบียนสมรส ทุกอย่างถือเป็นสินสมรสทั้งสิ้น นั่นก็เพื่อให้สามีและภรรยามีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ไม่ถูกบั่นทอนได้ง่าย สินสมรสมักจะมีความสำคัญในกระบวนการแบ่งปันทรัพย์สินในกรณีที่เกิดการหย่าร้างหรือการเสียชีวิตของหนึ่งในคู่สมรส โดยทั่วไปแล้วกฎหมายสมรสมักจะกำหนดกฎเกณฑ์ในการแบ่งแยกทรัพย์สินสมรส ซึ่งอาจแบ่งเป็นสินสมรสที่เป็นทรัพย์สินร่วมและสินสมรสที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของแต่ละคน โดยขึ้นอยู่กับกฎหมายและวิธีการจัดการทรัพย์สินในแต่ละประเทศหรือที่แต่ละคู่สมรสได้ตกลงกันไว้ในสัญญาก่อนหน้านั้น อาจมีการใช้หลักสินสมรสเพื่อคำนวณเงินชดเชยในกรณีที่มีการหย่าร้างหรือเสียชีวิตของหนึ่งในคู่สมรสด้วย
โดยการใช้หลักนี้เป็นการยืนยันสิทธิที่สร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ทางสมรสของคู่สมรสแต่ยังขึ้นอยู่กับกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณีโดยละเอียด การจัดการทรัพย์สินสมรสอาจมีความซับซ้อนและมีการตัดสินใจที่ต้องพิจารณาและตรวจสอบอย่างรอบคอบก่อนดำเนินการต่อไป
ทำไมต้องทำสัญญาก่อนสมรส ?
ทุกสัญญาที่สร้างขึ้นล้วนแล้วแต่มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป สัญญาก่อนสมรสก็เช่นกัน แม้ประโยชน์ของตัวสัญญาฉบับนี้จะถูกหยิบมาเมื่อคู่สมรสเกิดการหย่าร้างก็ตาม
ข้อดีของการทำสัญญาก่อนสมรส
- ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การหย่าร้าง การแบ่งทรัพย์สินไม่เท่าเทียม
- สร้างความชัดเจนและความมั่นคง โดยในตัวสัญญาจะระบุสินทรัพย์ของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน เพื่อง่ายต่อการดำเนินการเมื่อต้องหย่าร้าง
- ปกป้องสินทรัพย์ส่วนตัวและครอบครัว เมื่อเกิดการหย่าร้าง สินทรัพย์ส่วนตัวจะไม่ถูกแบ่งและไม่ถูกนับรวมเป็นสินสมรส
- ลดความยุ่งยากทางกฎหมาย เพื่อให้การไกล่เกลี่ยเป็นไปอย่างราบรื่น การทำสัญญาที่ระบุความชัดเจนของสินทรัพย์ทั้ง 2 ฝ่ายจะช่วยลดเวลาในการทำงานให้เร็วมากยิ่งขึ้น
ข้อเสียของการทำสัญญาก่อนสมรส
- มีค่าใช้จ่ายในการปรึกษา การทำสัญญาใด ๆ ก็แล้วแต่ควรจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เพื่อให้ได้สัญญาที่มีประสิทธิภาพ ใช้งานได้จริงและถูกกฎหมาย ดังนั้นอาจมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยจะขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้จัดทำ
- สร้างความกดดันแก่คู่สมรส ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะรู้สึกเป็นกังวลหรือกดดันกับสัญญาฉบับนี้
- หากต้องการเปลี่ยนแปลง หรือบอกเลิกสัญญา จำเป็นจะต้องมีคำสั่งจากศาลเท่านั้น ไม่สามารถทำได้โดยพลการ
สัญญาก่อนสมรสเป็นการวางแผนและกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการบริหารจัดการทรัพย์สิน ร่วมกัน กำหนดสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว แบ่ง แยก หรือสงวนทรัพย์สินบางชนิดหรือบางประเภทไว้ เช่น ทรัพย์สมบัติตกทอดของวงศ์ตระกูล ทรัพย์สินของกิจการส่วนตัว ให้เป็นสินส่วนตัว ซึ่งจะไม่ถูกแบ่งให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งหากการสมรสสิ้นสุดลง เช่น กรณีเสียชีวิต หรือหย่าร้าง เป็นต้น
สัญญาก่อนสมรสเป็นสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่อแบ่งแยก จัดแจงและกำหนดกฎเกณฑ์อย่างชัดเจนของทรัพย์สินแต่ละฝ่ายก่อนการสมรส เพื่อหากเกิดปัญหาการหย่าร้างในอนาคต ผลของสัญญาฉบับนี้จะสามารถร่นระยะเวลาในการไกล่เกลี่ย และป้องการสิทธิ์ในทรัพย์สินของตัวเองได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นสัญญาก่อนสมรสฉบับใดก็แล้วแต่ ควรถูกเขียนและกำกับโดยผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์หรือนักกฎหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
—————————————————————–
สำหรับท่านที่ต้องการสอบถามหรือรับคำปรึกษาเบื้องต้น
สามารถกรอกรายละเอียดได้ที่ฟอร์มแนบ
https://forms.gle/YMvaxRmnpqiNUGdVA
หรือติดต่อตามช่องทางที่ปรากฎไว้ดังนี้
Line : @idolplanner
Tel : 02-010-8823