Holding Company คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง?
เจ้าของธุรกิจทุกคนล้วนไม่อยากสูญเสียทรัพย์สินที่หามาด้วยความยากลำบาก ซึ่งในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ธุรกิจต่างๆก็มีการพัฒนากลยุทธ์เพื่อช่วยในการปกป้องและบริหารทรัพย์สิน หนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ การตั้งโฮลดิ้งขึ้นมาเพื่อไปถือหุ้นในบริษัทที่มีการประกอบกิจการ
การจัดตั้ง Holding Company เป็นกลยุทธ์ที่ธุรกิจครอบครัวมักที่จะใช้ในการวางแผนบริหารธุรกิจ รวมถึงทรัพย์สินส่วนรวมของสมาชิกครอบครัว และเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆหลังจากที่ภาครัฐเริ่มมีการจัดเก็บภาษีมรดก และภาษีการให้
แม้กระทั่งบริษัท ที่เรารู้จักกันดีในตลาดหุ้น บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังลงทุนอยู่ใน Holding Company ซึ่งโฮลดิ้ง คือบริษัทที่ไม่มีการดำเนินการทางธุรกิจแบบทั่วไป แต่เป็นบริษัทที่นำเงินไปลงทุนในกิจการอื่น (บริษัทลูก) อีกทีหนึ่ง เพื่อรอรับเงินปันผลจากกิจการเหล่านั้น นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นของโฮลดิ้งยังสามารถกำหนดนโยบายการบริหารงานของบริษัทลูกได้อีกด้วย เพราะมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ทรัพย์สินอื่นๆที่สำคัญและมีมูลค่า เช่น เครื่องจักร อสังหาริมทรัพย์ หรือเครื่องหมายการค้า ก็สามารถนำมาเป็นทรัพย์สินเพื่อจัดตั้งเป็น Holding Company แล้วจึงปล่อยเช่าอุปกรณ์เครื่องจักร พื้นที่ทำออฟฟิศ หรือตราสินค้า ให้กับบริษัทลูกอื่นๆภายในโฮลดิ้งได้อีกด้วย
มีธุรกิจครอบครัวจำนวนมากใช้ Holding Company เพื่อถือหุ้นในกิจการลูกที่ทำธุรกิจ โดยแบ่งธุรกิจแต่ละหน่วยให้กับลูกหลานเพื่อไม่ให้ทำธุรกิจร่วมกันในที่เดียว วิธีนี้เป็นการป้องกันความขัดแย้งกันของคนในครอบครัว ซึ่งเมื่อบริษัทลูกมีผลกำไรก็ส่งเข้าโฮลดิ้ง เพื่อใช้เป็นที่รวบรวมเงินกองกลางของครอบครัว
Holding Company สามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรได้บ้าง ?
สินทรัพย์ที่ บริษัทโฮลดิ้ง สามารถเป็นเจ้าของได้นั้นมีความหลากหลายสูง ยกตัวอย่างเช่น
▶ หุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการปัจจุบัน
▶ หลักทรัพย์ เช่น หุ้นกู้ กองทุน ตราสารทางการเงินต่างๆ
▶ ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์
▶ อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
5 เหตุผลที่ควรจัดตั้ง บริษัทโฮลดิ้ง
1. Holding Company ช่วยลดภาระภาษีของธุรกิจคุณ
ในบริษัทจำกัดทั่วไปที่มีการประกอบกิจการ หรือบริษัทที่ทำธุรกิจของคุณ หลายท่านเปิดกิจการมานาน ก็เป็นไปได้ว่าจะมีกำไรสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเวลาที่บริษัทจำกัดจ่ายเป็นเงินปันผลออกมาให้ผู้ถือหุ้น แน่นอนว่าต้องเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย 10%
แต่ถ้าหากมีการตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อถือหุ้นในบริษัทจำกัดที่ดำเนินธุรกิจ จะทำให้สามารถถ่ายเงินออกโดยจ่ายเงินปันผลมาเก็บไว้ที่โฮลดิ้ง ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ( อ้างอิงตามมาตรา 65 ทวิ (10) นั้น ถือว่าเป็นการชะลอการจ่ายภาษีก้อนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่มียอดขายต่อปีสูง
ในการยกเว้นภาษีจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมดังนี้
1) บริษัทโฮลดิ้งต้องถือหุ้นในบริษัทลูกมากกว่า 25% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง จึงจะได้สิทธิไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย
2) Holding Company ต้องถือหุ้นก่อนวันที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องถือต่อไปอีกอย่างน้อย 3 เดือนหลังจากมีสิทธิได้รับเงินปันผล
3) บริษัทลูก ต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้ง (ไม่ถือหุ้นไขว้กัน)
แต่หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในข้อในข้อหนึ่งจากข้างต้น เงินปันผลจะได้รับการยกเว้นภาษีครึ่งหนึ่ง แทน
นอกจากนี้ Holding Company สามารถช่วยทำให้ประหยัดภาษีจากการส่งต่อทรัพย์สินได้ ซึ่งมีหลายกลยุทธ์ด้วยกัน หนึ่งในกลยุทธ์นั้นคือ การ Freeze มูลค่าทรัพย์สินไว้ เพื่อเวลาคำนวณการเสียภาษีการให้ และภาษีมรดก จะได้คำนวณจากมูลค่า ณ วันที่เอาทรัพย์สินเข้าบริษัท ทำให้มูลค่าปัจจุบัน ต่ำกว่ามูลค่าในอนาคตอย่างแน่นอน
ยกตัวอย่าง หากเราเอาอสังหาริมทรัพย์ ที่มูลค่าวันนี้ 100 ล้านบาท เข้ามาอยู่ใน Holding Company อีก 10 ปีผ่านไป อสังหาริมทรัพย์นั้นอาจจะมูลค่าเพิ่มเป็น 200 ล้านบาท หากรุ่นปู่ หรือรุ่นพ่อจากไป จากที่ต้องคำนวณภาษีจาก 200 ล้านบาท ก็จะคำนวณจากเงินต้น 100 ล้านบาทแทน
บริษัทโฮลดิ้งยังสามารถนำเงินที่ได้มาปล่อยกู้ให้กับบริษัทลูก โดยที่ตัวโฮลดิ้งเองจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจากดอกเบี้ยที่ได้รับ ร้อยละ 3.3% โดยดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปล่อยให้บริษัทลูกจะต้องเป็นราคาที่อ้างอิงจากตลาด ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
เราแนะนำ ประเด็นภาษีของโฮลดิ้ง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน และมีเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาหลายประเด็น ก่อนที่คุณจะจัดตั้ง Holding Company คุณควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยประเมินสถานการณ์ และวางแผนรองรับสำหรับอนาคต รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ของรัฐ
2. ปกป้องทรัพย์สิน และ จำกัดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ
โครงสร้าง Holding Company เปรียบเสมือนโล่ที่ทำหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินของบริษัทลูกๆในเครือของตัวเอง เจ้าหนี้ของบริษัทลูก ก็ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทลูกเพียงเท่านั้น เจ้าหนี้ไม่สามารถแตะต้องทรัพย์สินที่เป็นของ Holding Company หรือกิจการอื่นๆภายเครือได้
ยกตัวอย่าง สมมุติว่าคุณเป็นเจ้าของบริษัทที่ผลิตสินค้าอุปโภค ที่มีสินค้าเป็น แชมพู สบู่ ยาสีฟัน มีรถบรรทุกไว้ส่งของให้ร้านค้าทั่วประเทศ วันหนึ่งเกิดมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน พนักงานขับรถประมาททำให้เกิดอุบัติเหตุสร้างความเสียหาย ทำให้ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมากเกินกว่าที่จะรับผิดชอบได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ กิจการที่สร้างมาก็ต้องล้มละลาย
กรณีเช่นนี้จึงควรตั้งโฮลดิ้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นมาตรการในการจำกัดความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่นๆ ในขณะที่ยังไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เพราะถ้าหากมีการจัดตั้งโฮลดิ้งและแยกหน่วยธุรกิจไว้ (สมมุติว่าเป็นหน่วยบริษัทขนส่ง) เจ้าหนี้ที่ฟ้องร้องจะสามารถฟ้องร้องค่าเสียหายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งเท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าการทำเช่นนี้ เป็นการจำกัดความเสี่ยงหรือความรับผิดของแต่ละบริษัทไม่ให้เชื่อมโยงถึงกัน
3. ใช้เป็นเครื่องมือจัดโครงสร้างการบริหาร เพื่อรองรับการขยายของธุรกิจครอบครัว
นี่ถือเป็นข้อดีสำคัญของ Holding Company เลยก็ว่าได้ เนื่องจากโครงสร้างของบริษัทโฮลดิ้งนั้นเอื้อต่อการขยายธุรกิจอย่างมาก
ยกตัวอย่าง สมมุติว่าปัจจุบันคุณกำลังทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีขนาดกลาง เมื่อลูกๆเรียนจบก็เข้ามาช่วยบริหารงาน คุณเห็นว่าลูกๆของคุณมีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจ ต่อมาคุณจึงมีความต้องการขยายไลน์ในธุรกิจก่อสร้างเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีสิทธิบัตรเครื่องหมายการค้า และขยายธุรกิจด้านอื่นๆต่อไป
กรณีเช่นนี้ โครงสร้างแบบ Holding Company นั้นมีความเหมาะสมมากในการจัดทำ เพราะถ้าคุณไม่จัดโครงสร้างเป็นโฮลดิ้งและรวมธุรกิจดังกล่าวเข้าด้วยกันทั้งหมดให้อยู่ในบริษัทเดียวกัน จะเกิดปัญหายุ่งยากตามมาในเรื่องของความไม่ชัดเจนของธุรกิจ การจัดทำรายงานต่างๆของบริษัทก็จะไม่ชัดเจน ทำให้การวัดผลประเมินการดำเนินงานหรือกำไรของแต่ละธุรกิจได้ยาก
ดังนั้น เราแนะนำให้คุณแบ่งหน่วยธุรกิจออกมาให้ชัดเจน โดยใช้เงินลงทุนจากธุรกิจดั้งเดิมของคุณที่เป็นกิจการทำรับเหมาก่อสร้าง แบบนี้ทุกหน่วยธุรกิจก็ถือว่าเป็นส่วนรวมของครอบครัว ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง
4. การส่งต่อทรัพย์สิน และจัดการทรัพย์สินสามารถทำได้สะดวกกว่า
ธุรกิจครอบครัวจะได้ประโยชน์จากข้อนี้เต็มๆ เพราะโครงสร้างบริษัทโฮลดิ้ง เอื้อเฟื้อได้ด้านการจัดสรรแบ่งทรัพย์สิน หรือเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ที่เป็นสมาชิกในครอบครัวได้อย่างสะดวกและโปร่งใส
ยกตัวอย่าง สมมุติว่าคุณมี 4 บริษัท และอยากจะแบ่งทรัพย์สินให้กับลูก 5 คนของคุณ แทนที่จะมาจัดการกระจายแบ่งหุ้นทีละกิจการให้ลูกๆ คุณก็ตั้ง Holding Company ขึ้นมา แล้วทำการออกหุ้นในนามโฮลดิ้งให้ลูกทั้ง 5 คนของคุณแทน โดยคุณสามารถกำหนดสัดส่วนของการแบ่งหุ้นให้กับลูกๆของคุณได้อีกด้วย
5. ใช้เป็นเครื่องมือบริหารสวัสดิการคนในครอบครัว
เมื่อเราได้รวบรวมทรัพย์สินสำคัญและหุ้นของธุรกิจที่ประกอบกิจการมาอยู่ในบริษัทโฮลดิ้งแล้ว เราสามารถจัดระบบสวัสดิการดูแลคนในครอบครัวได้ เราแนะนำว่าขั้นตอนนี้ควรเป็นขั้นตอนหลังจากได้มีการจัดทำธรรมนูญครอบครัวแล้ว ซึ่งเนื้อหาในนั้นจะมีการพูดถึงรายละเอียดการดูแลสมาชิก เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนในครอบครัวจะมาสานต่อธุรกิจ จะมีคนกลุ่มหนึ่งอาจเลือกที่จะทำงานนอกธุรกิจครอบครัว
ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องการดูแลสวัสดิการและการส่งต่อธุรกิจ กลุ่มคนที่ทำงานในธุรกิจ และกลุ่มคนที่ทำงานนอกธุรกิจอาจจะได้รับสวัสดิการที่ต่างกัน และได้รับจำนวนหุ้นที่ไม่เท่ากัน โดยทายาทที่ทำงานในธุรกิจครอบครัวก็จะได้สวัสดิการจากบริษัทอยู่แล้ว
แต่ Holding Company จะเป็นแหล่งรวมทรัพย์สินที่เอาไว้ดูแลสวัสดิการของคนในครอบครัวทุกคน รวมถึงคนที่ไม่ได้มาทำงานในธุรกิจของครอบครัวได้อีกด้วย
ธุรกิจของคุณควรจัดตั้ง Holding Company หรือไม่?
เราแนะนำให้คุณจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ถ้าหากบริษัทหรือธุรกิจของคุณ
▶ มียอดขายมากกว่า 50 ล้าน/ปี หรือมีกำไรสะสมในงบการเงินมากกว่า 20 ล้าน
▶ ธุรกิจกำลังเติบโตและคุณต้องการจำกัดความเสี่ยงในการประกอบกิจการ
▶ ธุรกิจของคุณมีเครื่องหมายการค้า
▶ คุณมีอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าสูง
▶ มีทรัพย์สิน หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการส่งต่อให้รุ่นต่อไป
▶ ครอบครัวมีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีทายาทธุรกิจหลายคน และต้องการสร้างมาตรการป้องกันความขัดแย้งรองรับสำหรับอนาคต
▶ ต้องการป้องกันการโอนย้ายทรัพย์สินไปยังบุคคลภายนอก หรือป้องกันการถูกเทคโอเวอร์
สรุป
จะเห็นได้ว่า Holding Company มีข้อดีมากมาย แต่โครงสร้างของบริษัทโฮลดิ้งนั้นอาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน แต่ถ้าหากคุณมีธุรกิจที่กำลังเติบโต หรือมีแนวโน้มที่จะขยับขยายกิจการในอนาคต การปรับโครงสร้างเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ก็ถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับธุรกิจและครอบครัวของคุณได้เป็นอย่างดี
ปรึกษาด้านการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง
เราเป็นผู้ให้บริการจัดตั้ง Holding Company ครบวงจร พร้อมปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นบริษัทโฮลดิ้งทั้งระบบ ด้วยประสบการณ์การจัดตั้งมากว่า 100 บริษัท ด้วยประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ในด้านธุรกิจครอบครัว IDOL PLANNER CONSULTING จึงเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง และความท้าทายใหม่ๆที่เจ้าของธุรกิจจะต้องเผชิญ ในปัจจุบันมีธุรกิจจำนวนมากที่ใช้โครงสร้างธุรกิจที่ไม่เหมาะสมในการประกอบกิจการ ทำให้ระบบการบริหารและการจัดการนั้นขาดประสิทธิภาพ เราเชื่อว่าการวางรากฐานที่ดีจะสามารถเติมเต็มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจของคุณได้ โดยทั่วไปแล้วการจัดตั้งโฮลดิ้งอาจต้องใช้เงินทุนจำนวนมากหากไม่มีกลยุทธ์ที่เหมาะสม ที่ IPC เราช่วยคุณวางกลยุทธ์ให้รอบด้าน โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ได้จริงในระยะยาว ที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมากในการเข้าถือหุ้นในบริษัทประกอบการอีกด้วย
IDOL PLANNER CONSULTING มีผู้เชี่ยวชาญในด้านการปรับโครงสร้างองค์กร ภาษี กฎหมาย ในการจัดการธุรกิจครอบครัว พันธกิจของเราคือการช่วยเหลือบริษัทของครอบครัวได้เติบโตอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเราพร้อมที่จะเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มศักยภาพของธุรกิจคุณ ผู้ที่สนใจด้านการปรับโครงสร้างองค์กร จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง หรือต้องการคำปรึกษาเฉพาะทางสำหรับธุรกิจครอบครัว สามารถติดต่อเราเพื่อขอรับคำปรึกษาเบื้องต้น ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย