อะไรคือการจัดประชุมครอบครัว 1st Talk Family Meeting
เมื่อพูดถึงการประชุมครอบครัว คุณจะนึกถึงเรื่องอะไร?
▶ กินข้าวร่วมกัน?
▶ วันเกิดคนในครอบครัว?
▶ ฉลองรับปริญญาลูกหลาน?
▶ คนในครอบครัวเจ็บป่วย?
▶ คนในครอบครัวทะเลาะกัน?
▶ ขยายธุรกิจใหม่?
▶ สภาพคล่องมีปัญหา ต้องกู้ธนาคารเพิ่ม? หรือ
▶ ทรัพย์สินและธุรกิจของครอบครัว จะจัดการและส่งต่อกันอย่างไร?
รูปแบบของการประชุมแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกันไป ส่วนมากที่พบเห็นมักจะเป็นแบบไม่เป็นทางการ แต่ก็มีบางครอบครัวที่มีการจัดประชุมแบบมีระบบ ปรึกษากันเรื่องของการจัดการธุรกิจแบบเป็นประจำสม่ำเสมอ ในขณะที่บางครอบครัวใช้การพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ และจะจัดประชุมแบบเป็นทางการก็ต่อเมื่อมีเรื่องสำคัญต้องแจ้งให้ทราบหรือต้องตัดสินใจร่วมกันเท่านั้น ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไร
การประชุมครอบครัวทั่วไป มักจะไม่ได้มีการจดบันทึกการประชุม กติกาในเรื่องต่างๆ ก็มักจะเป็นแบบอะลุ้มอล่วย ข้อตกลงในเรื่องต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และส่วนใหญ่มักจะขาดความชัดเจน !
เมื่อไม่มีเรื่องสำคัญก็ไม่จำเป็นต้องประชุม ….แล้วครอบครัวของคุณล่ะเป็นแบบไหน?
การประชุมครอบครัวครั้งแรก คือการประชุมแบบเป็นทางการครั้งแรกของสมาชิกในครอบครัว ในเรื่องต่างๆที่สำคัญมาก เช่น เรื่องการจัดการทรัพย์สินของครอบครัว การรักษาและส่งต่อมรดกของครอบครัว การสืบทอดทางธุรกิจ การจัดการทางภาษี ตลอดไปจนถึงการรักษาความสัมพันธ์และดูแลกันและกันของสมาชิกครอบครัวในระยะยาว
เชื่อว่าหลาย ๆ ครอบครัวมีการจัดประชุมพูดคุยกันอยู่บ้างแบบไม่เป็นทางการ เนื้อหาก็มักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจของครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ เป็นการรายงาน ขอความคิดเห็น และลงมติ ส่วนครอบครัวที่ไม่มีการทำธุรกิจ ก็จะเป็นรูปแบบการพูดคุยกันทั่วไป ไม่มีรูปแบบที่เป็นทางการ
Pain Point ของธุรกิจครอบครัวนั้นก็มีหลายประเด็น
▶ ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ สร้างมาก็ลำบาก แต่พอเติบโตแล้ว กลับมีอัตราการอยู่รอดในการส่งต่อให้ทายาทรุ่นต่อไปได้ไม่เกิน 3 รุ่นก็ล่มสลาย
▶ ลูกหลานหลายคน แต่ละคนทุ่มเทกับธุรกิจครอบครัวไม่เท่ากัน หรือมีบางคนไม่ได้เข้ามาทำงานในครอบครัวเลย จะแบ่งหุ้นให้อย่างไรดี ให้เท่ากัน หรือ ไม่เท่ากัน ความยุติธรรมอยู่ที่จุดไหน หรือคุณอยากจะแบ่งให้อย่างไร ถ้าไม่ได้ทำพินัยกรรม กฎหมายจะแบ่งให้โดยไม่สนใจความต้องการของคุณ
▶ หุ้นของบริษัท หรืออสังหาริมทรัพย์ที่คุณต้องการจะให้เป็นสมบัติกองกลาง หรือของคนในครอบครัวเท่านั้น ถ้าไม่มีการพูดคุยหรือดำเนินการทางกฎหมายบางอย่าง ในอนาคตทรัพย์สินเหล่านี้ก็อาจจะถูกกระจายเป็นมรดกให้กับคนนอกหรือขายให้คนอื่นได้
▶ ธรรมเนียมปฏิบัติที่ให้ลูกคนโตเป็นใหญ่ในการบริหาร แล้วถ้าไม่เก่งหรือไม่ดีล่ะ
▶ ผู้ใหญ่ของครอบครัวหวังดี จัดให้มีกงสี แต่นานวันเข้ากลับเป็นประเด็นของความน้อยใจทำให้ลูกหลานหมางใจกัน
▶ เมื่อทำธุรกิจก็อยากเสียภาษีน้อยๆ กรรมการจึงแต่งบัญชีจนคนในครอบครัวเริ่มสงสัยในความโปร่งใสทางการเงิน
เรื่องที่ครอบครัวไม่ชอบพูดถึงคือ
▶ การส่งต่อทรัพย์สินมรดก กลัวทายาทรู้มากจะไม่ขวนขวาย กลัวทายาทจะจ้องเอามรดก กลัวจะทะเลาะกันก่อนเพราะไม่ได้ส่วนแบ่งตามที่ต้องการ ฯลฯ
▶ แผนสืบทอดธุรกิจ ก็คิดว่าเมื่อเวลานั้นมาถึง พี่ชายใหญ่หรือพี่คนโตก็จะเป็นคนจัดการเอง ปล่อยให้ไปตกลงกันเอง คิดไปเองว่าพี่น้องรักกันไม่น่าจะมีปัญหา เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ พี่น้องอาจไม่รักกันเหมือนเดิมอีกต่อไป
▶ การวางแผนการตายล่วงหน้า ถ้าเจ็บป่วยวิกฤตแบบไหนจะหยุดการรักษา พูดไปก็เหมือนกับแช่ง อายุยังไม่มากยังอยู่อีกนาน ตอนนี้ก็ยังแข็งแรง
ทั้ง ๆ ที่เราต่างก็รู้กันอยู่ว่า เรื่องเหล่านี้ ไม่มีใครหลีกเลี่ยงมันได้ ถ้ามันจะเกิด มันก็จะเกิดขึ้นโดยมักจะไม่เลือกเวลาที่เหมาะสมด้วย
จะดีหรือไม่ หากในครอบครัวเรามีการประชุมแบบเป็นทางการ อย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่ง พูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้ เพื่อสร้างความชัดเจนในบางเรื่องที่เห็นว่าสำคัญ ลดโอกาสของความบาดหมางในครอบครัวไปได้ระดับหนึ่งเลย ดีกว่าเมื่อมีปัญหาแล้วค่อยมาตามแก้ แก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ทำให้อนาคตอาจจะเสียความสัมพันธ์อย่างถาวร
การที่ครอบครัวไม่มีการพูดคุยกันไว้ล่วงหน้าในเรื่องต่าง ๆ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวไม่สู้ดีนัก การส่งต่อธุรกิจก็ไปได้ไม่ไกล เพราะแต่ละคนก็ไม่รู้มาก่อนว่าเรื่องไหนจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ไม่มีการวางแผน ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ไม่มีใครยอมให้ใคร