การทำธุรกิจว่าเป็นเรื่องยากแล้ว แต่ในกรณีที่ธุรกิจของคุณเป็น Family Business หรือธุรกิจแบบกงสี ย่อมมีความยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะในการบริหารธุรกิจต้องบาลานซ์ความสัมพันธ์ที่เป็นรากฐานทั้ง 3 มิติให้ได้ ทั้งมิติของครอบครัว มิติของการบริหารธุรกิจ และมิติในฐานะเจ้าของธุรกิจ
โดยเฉพาะมิติของครอบครัวที่มีความซับซ้อนและเปราะบาง เนื่องจากสมาชิกแต่ละคนมีพื้นฐานนิสัยใจคอ วิธีการเลี้ยงดูแตกต่างกัน จึงเป็นที่แน่นอนว่าการบริหารจัดการครอบครัวใหญ่ที่มีจำนวนสมาชิกมากก็จะยากมากขึ้นไปด้วย ไม่ใช่แค่ในด้านการบริหารจัดการ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหลักและมักเกิดขึ้นเป็นประจำในหลาย ๆ ครอบครัวคือเรื่องของ ‘การสื่อสาร’ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากประเด็นเล็ก ๆ จนบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต
นอกจากการสื่อสารที่เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจสำหรับครอบครัวแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นก็คือ Age Gap ที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกรุ่นต่าง ๆ หลังครอบครัวมีการขยายใหญ่ขึ้น สมาชิกส่วนใหญ่มักจะสนิทสนมกันเพียงในครอบครัวตัวเอง เช่น เด็กชายเอ สนิทกับพ่อ แม่และพี่สาว แต่ไม่สนิทกับ ลุง ป้า น้า อา ที่เป็นเครือญาติเดียวกัน ในกรณีที่ครอบครัวมีการจัดประชุมครอบครัว (Family Meeting) เป็นประจำ เด็กชายเอก็จะมีโอกาสสนิทกับญาติที่อยู่ใน Age Group หรือกลุ่มที่โตมาในวัยไล่ ๆ กัน
สำหรับครอบครัวใหญ่ การที่เครือญาติไม่ได้สนิทกันไปทั้งหมดฟังดูแล้วอาจไม่ใช่ปัญหาที่ต้องกังวล แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงในอนาคต คือเมื่อทายาทเริ่มเติบใหญ่ ต้องเข้ามามีบทบาทในธุรกิจครอบครัว จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสื่อสารกัน แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาคือสมาชิกนอกจากจะไม่สนิทสนมกันแล้ว ยังขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้ขาดการสื่อสารที่ดีพอ อาจนำไปสู่การปิดบังข้อมูล ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกคนอื่น ๆ ไม่รู้ข้อเท็จจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในตัวบุคคลอื่นก็เป็นได้
เพราะทุกครอบครัวและทุกคนต่างมีความเห็นเป็นของตัวเอง แต่ในวัยที่ใกล้เคียงกันยังพอแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยการพูดคุยปรับความเข้าใจกันได้ เนื่องจากมีวุฒิภาวะในระดับเดียวกัน แต่ถ้าข้อพิพาทเกิดขึ้นข้าม Generation เช่น รุ่น 2 กับ รุ่น 3 ก็จะเป็นเรื่องยากในการจัดการไปอีกแบบ เพราะทายาทแต่ละเจนเติบโตมาในสภาพแวดล้อม ค่านิยมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีความเห็นไม่ลงรอยกันในบางเรื่อง ทางออกของปัญหามักจบด้วยการที่เด็กขอโทษผู้ใหญ่ ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นปมที่ทำให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่ไว้ใจกันและมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันในอนาคต
จะเห็นได้ว่าแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการจับทั้งสองคนมาพูดคุยกัน ขอโทษซึ่งกันและกันอาจไม่ใช่วิธีที่เป็นทางออกที่ดีที่สุด ในขณะที่ครอบครัวหลาย ๆ ครอบครัวที่มีการทำธรรมนูญครอบครัวขึ้นมา และใช้ สภาครอบครัว (Family Council) เป็นโซลูชันในการจัดการ
สภาครอบครัวจะเข้ามาช่วยบริหารความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในตระกูล เป็นได้ทั้งผู้ไกล่เกลี่ย หาทางออก รวมถึงเป็นผู้ตัดสินว่าใครผิดใครถูกในเรื่องนั้น ๆ ให้สมาชิกได้รับบทลงโทษเพื่อดำรงกฎระเบียบของครอบครัว
สภาครอบครัว คือใคร?
ในบางบ้านอาจเรียกคนกลุ่มนี้ว่าคณะกรรมการครอบครัว เป็นกลุ่มคนที่ถูกแต่งตั้งขึ้นผ่านการรับเลือกจากสมาชิกในครอบครัวแต่ละสาย มีความอาวุโส เข้าใจกติกาและวัฒนธรรมของครอบครัวเป็นอย่างดี ได้รับความไว้วางใจในการให้อำนาจเพื่อกำหนดนโยบาย บริหารจัดการครอบครัวและธุรกิจกง
เป็นเหมือนกลุ่มคนที่เชื่อมต่อสมาชิกแต่ละคนไว้ด้วยกัน ในแง่ของครอบครัวแล้ว นอกจากจะบริหารความสัมพันธ์ของสมาชิกให้ราบรื่น ป้องกันข้อพิพาท ระงับความขัดแย้ง Family Council ยังเปรียบเสมือนเป็นกระบอกเสียงของครอบครัว เมื่อสมาชิกมีปัญหา ต้องการร้องเรียน สภาจะรวบรวมเรื่องเหล่านี้นำมาประชุมพร้อมกำหนดนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับครอบครัว ผ่านหลักการคิดถึงส่วนรวมเป็นหลัก มองเห็นประโยชน์ของครอบครัวเป็นเรื่องสูงสุดและยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารระหว่างกันอีกด้วย
บทบาทและหน้าที่ของสภาครอบครัวจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามแต่ละธรรมนูญครอบครัว โดยพื้นฐานแล้วจะมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย บริหารจัดการ รวมถึงเป็นฝ่ายตัดสินวาระสำคัญภายในครอบครัว รวมถึงด้านธุรกิจ เช่น นโยบายด้านสวัสดิการ การกำหนดหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคน หรือแม้แต่การพิจารณาการลงทุนเองก็ตาม
เพื่อบริหารจัดการระเบียบของครอบครัวให้มีความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาลและการตัดสินใจเกี่ยวกับครอบครัว การมีสภาครอบครัวเป็นผู้รักษากฎ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครอบครัวแบบกงสีสมควรมี เพื่อเป็นสะพานเชื่อมสมาชิกทุกคนเข้าหากันและบริหารมิติของครอบครัว มิติของการบริหารธุรกิจ มิติในฐานะเจ้าของธุรกิจให้เกิดความบาลานซ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเจริญงอกงามของธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงความสัมพันธ์อันดีที่พี่น้องมีความเข้าใจและรักใคร่กลมเกลียวกัน