กิจการกงสีฟังเหมือนจะดูดี ราบรื่น ไม่มีปัญหา เพราะบริหารกิจการกันเองภายในครอบครัว น่าจะพูดคุยกันง่าย เข้าอกเข้าใจกันดี แต่แท้จริงแล้วการทำธุรกิจกงสี ย่อมมีภัยซ่อนเร้นที่พร้อมปะทุขึ้นมาทุกวัน เพราะเป็นเรื่องที่ผูกปมกับผลประโยชน์และเม็ดเงินมหาศาลเข้าไว้ด้วยกัน
ต่อให้เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน หรือลูกกับพ่อ ก็ไม่พ้นความเสี่ยงจากเรื่องเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีคนนอกเข้ามาเอี่ยว ย่อมนำมาซึ่งความสั่นคลอนของธุรกิจและสายสัมพันธ์ของพี่น้องที่แตกหัก จนเกิดศึกสายเลือดเพื่อแย่งชิงสมบัติ นำหายนะมาสู่ชื่อเสียงและกิจการที่อาจย่อยยับตามกันไป

เช่นเดียวกับกรณีของตระกูลธุรกิจหมื่นล้านที่เพิ่งเป็นข่าวดังเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อบิดา ลูกชายคนโตและคนเล็กยื่นฟ้อง ลูกชายคนกลางพร้อมประกาศตัดออกจากตระกูลเมื่อหลายปีก่อน หลังจากลูกชายคนกลางได้ตัดสินใจซื้อหุ้นโดยการกู้เงินจากครอบครัว พร้อมการมีเอี่ยวของ “แม่ยาย” ในการซื้อหุ้น ที่ทำให้ประเด็นเรื่องผลประโยชน์เข้มข้นขึ้น และใช้เวลาพิสูจน์ความจริงกว่า 6 ปี คดีจึงเริ่มคลี่คลายลง พร้อมบทสรุปที่ศาลยกฟ้องความผิดของจำเลยทุกคดี เว้นแต่การให้อภัยจากครอบครัวที่ถูกตัดขาด กลายเป็นปมร้าวที่ไม่สามารถลบรอยบาดหมางได้
และศึกสายเลือดในธุรกิจกงสีของไทย ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงกรณีเดียวเท่านั้น หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินข่าวร้าวฉานของพี่น้องแห่งอาณาจักรอาหารกระป๋อง ที่แย่งชิงกรรมสิทธิ์ในธุรกิจโรงแรม ที่ดินในกรุงเทพและต่างจังหวัด รวมหุ้นอีก 19 บริษัท ที่กินเวลาการต่อสู้ในชั้นศาลยาวนานถึง 6 ปี
หรือกรณีธุรกิจน้ำพริกเผา ที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งของแม่กับลูก ก็เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเป็นกรณีปลอมแปลงเอกสารที่ดินเป็นของตัวเอง ซึ่งการฟ้องร้องดังกล่าวยังมีจำเลยเพิ่มอีกคน คือ ‘ลูกเขย’ นั่นเอง
นี่จึงเป็นเหตุผลให้บางครอบครัวเลือกใช้กฎเกณฑ์ในการแยกธุรกิจและครอบครัวออกจากกันอย่างชัดเจน โดยไม่ให้เขย-สะใภ้ เข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจ ผู้ที่มีบทบาทหรือบรรดาทายาทจะต้องเป็นผู้สืบสกุลโดยสายเลือดเท่านั้น เท่ากับว่าลูกหลานจะกลายเป็นคนมีบทบาท มากกว่าพ่อหรือแม่ที่แต่งเข้ามา

บทเรียนจากกรณีที่ยกตัวอย่างมา สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจในอนาคตก็คือ “ธรรมนูญครอบครัว” กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่สมาชิกทุกคนปฏิบัติร่วมกันและนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย ในครอบครัวที่ประกอบกิจการกงสี ช่วยสร้างความชัดเจนในบทบาทหน้าที่และป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เพราะศึกสายเลือดที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ไม่ใช่เพียงความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินและชื่อเสียงของธุรกิจ แต่ยังถือเป็นประสบการณ์และบทเรียนที่เจ็บปวดของสมาชิกในครอบครัว ที่พี่น้อง พ่อแม่ลูก ต้องมาแตกหักกันเองจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล ดำเนินคดี
การมี ธรรมนูญครอบครัว ประจำตระกูล ก็เปรียบเสมือนกฎเหล็กที่ป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เพราะไม่ว่าครอบครัวจะรักใคร่กลมเกลียวกันขนาดไหนก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงกิเลสของอำนาจเงินตราได้พ้น