Exit Plan อยากเลิกกิจการ-เกษียณ ต้องวางแผนอย่างไร?

Exit Plan คือการวางแผนออกจากธุรกิจของเจ้าของ คนส่วนมากคิดว่าเป็นการขายธุรกิจหรือขายหุ้นของธุรกิจ แท้ที่จริงแล้วยังมีความหมายรวมไปถึงการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุของเจ้าของธุรกิจ โดยจะมีการส่งต่อธุกิจให้แก่ทายาทหรือมืออาชีพ ซึ่งเป็นการออกจากธุรกิจโดยสมัครใจ ยังมีการ Exit โดยไม่สมัครใจ ได้แก่ การเสียชีวิต การเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุจนทำให้เจ้าของไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ซึ่งหากเป็นกรณีนี้บางธุรกิจอาจจะต้องปิดกิจการไปเลย และแน่นอนว่าเจ้าของอาจจะไม่เหลือเงินจากการปิดกิจการหรืออาจจะมีภาระหนี้สินที่จะต้องจ่ายอีกด้วย

ทำไมต้องวางแผน Exit Plan ?

Exit Strategy เป็นแผนหรือกลยุทธ์ที่บริษัทจะต้องคิดเผื่อไว้สำหรับรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับกิจการ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไข สภาพแวดล้อมในช่วงเวลานั้น แต่โดยรวมจะหมายถึงการที่เจ้าของกิจการ ขายหรือลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของให้กับนักลงทุน หรือกิจการอื่น (อ้างอิงข้อมูล set.or.th)

ดังนั้น ในการสร้างแผนธุรกิจ (Business Plan) นอกจากจะวางกลยุทธ์ในเรื่องการขยายธุรกิจแล้ว ก็ควรคำนึงถึงกลยุทธ์ Exit ด้วย เพราะจะเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และในทางกลับกันก็จะทำให้ธุรกิจของเรามีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นด้วยการวางระบบการจัดการในทุกมิติของแผนธุรกิจเพื่อเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าของกิจการ

เป้าหมายสำคัญของการจัดทำ Exit Plan คือ การวางแผนการเงินของเจ้าของหลังจากออกจากธุรกิจ เพราะเมื่อถึงเวลานั้น เราอาจจะไม่มีรายได้จากเงินเดือนหรือเงินปันผลจากบริษัทที่เราเป็นเจ้าของอีกต่อไป จึงจำเป็นต้องมีแผนการเงินเพื่อการเกษียณให้ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ที่ปรึกษาการเงินจะสามารถช่วยเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณเงินที่จะต้องใช้จ่าย ที่มาของรายได้ รูปแบบการเก็บออมหรือการลงทุน เป็นต้น

ขั้นตอนการวางแผน

1. กำหนดเป้าหมาย คือการกำหนดวิธีที่เราจะออกจากธุรกิจ เช่น

การเกษียณอายุโดยมีทายาทเข้ามาสืบทอด ซึ่งอาจจะเป็นลูกหลาน พนักงานที่มีศักยภาพ หรือการจ้างมืออาชีพ การมีแผนการล่วงหน้าจะทำให้เรามีเวลาในการเตรียมตัว และสร้างระบบงานต่างๆ เพื่อรองรับการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น มีระบบการควบคุมภายในที่ดีสามารถตรวจสอบได้

การขายหุ้นบางส่วนหรือทั้งหมดให้พนักงานหรือบุคคลภายนอก ซึ่งเราจะต้องสร้างให้ธุรกิจน่าสนใจ ไม่ใช่แค่เพียงรายได้ที่เติบโตเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแกร่งของแบรนด์ การรักษาลูกค้า ทีมงานสนับสนุน สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนไปที่ราคาหุ้น และเราจะมีอำนาจในการเลือกหุ้นส่วนหรือกำหนดราคาได้ ในทางตรงกันข้าม หากไม่มีการวางแผนล่วงหน้า เจ้าของธุรกิจจำนวนมากเริ่มมองหาผู้ร่วมลงทุนหรือขายหุ้นในเวลาที่กิจการเริ่มไม่มีอนาคตหรือเราหมดไฟในการทำงาน ทำให้เราต้องมายืนอยู่ในฝั่งที่เป็นผู้ถูกเลือกหรือถูกกดราคา

2. วิเคราะห์ข้อมูลสิ่งที่มี (Identity) เป็นขั้นตอนของการพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่เรามีหรือที่จะต้องใช้ในการวางแผน ได้แก่

▶ ข้อมูลส่วนบุคคล อายุปัจจุบัน แผนเกษียณอายุ ข้อมูลทางการเงินต่างๆ
▶ ข้อมูลธุรกิจ ทรัพย์สินหนี้สินที่มี รายจ่ายของกิจการ ประเภทของธุรกิจ ระบบการจัดการองค์กร โครงสร้างการถือหุ้น

3. ประเมินความเสี่ยงและบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management and Protection)

โดยการประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในด้านเจ้าของกิจการเองและธุรกิจ เพื่อที่จะพิจารณาดูว่าอะไรที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วสร้างผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจอย่างมาก เช่น การเจ็บป่วยอย่างรุนแรงหรือการเสียชีวิตกะทันหันของเจ้าของ การถูกฟ้องร้อง การจัดการด้านภาษี คดีความต่างๆ การทุจริตของพนักงาน หนี้สูญของลูกหนี้การค้า คู่แข่งทางการค้า การถูก Disrupt จากความนิยมหรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฯลฯ เพื่อที่จะหาวิธีลดหรือปิดความเสี่ยงนั้นๆ วิธีการหนึ่งที่ใช้ในการลดความเสี่ยงของธุรกิจคือ การจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อถ่ายโอนกำไรสะสมออกไปโดยไม่มีภาระภาษี หรือใช้ถือครองทรัพย์สินสำคัญแทนการถือครองในชื่อบริษัทประกอบกิจการ ทำให้ลดความเสี่ยงในกรณีบริษัทประกอบกิจการถูกฟ้องร้อง เจ้าหนี้จะไม่สามารถเข้ามาเรียกร้องจากบริษัทโฮลดิ้งได้ เพราะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นเท่านั้น

4. สร้างและต่อยอดให้แข็งแรง (Build)

เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีปัจจุบันสร้างให้เกิดมูลค่าหรือประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในทุกด้าน

โดยพิจารณาจากทุนทั้งหมดที่มี ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สิน ระบบการบริหารงานบุคคลากร ระบบการดูแลลูกค้า การจัดการเงินทุน การสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์หรือเครื่องหมายการค้า ในขั้นตอนนี้จะสามารถทำให้ผลประกอบการเติบโตขึ้น สร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น โดยจะต้องมีการเก็บข้อมูลเริ่มต้น กำหนดแผน ลงมือปฏิบัติ และมีการเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่เราจะนำไปใช้ได้ในอนาคตคือ การนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปสร้างเป็น Story telling ในการเพิ่มมูลค่ากิจการในวันที่เราต้องการ Exit

 

5. เตรียมออกจากธุรกิจ และเตรียมแผนใช้ชีวิตหลังออกจากธุรกิจที่สร้างมานาน

เป็นช่วงเวลาที่จะต้องถ่ายโอนธุรกิจอย่างจริงจัง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะออกโดยการมีทายาทเข้ามาสืบทอด หรือขายหุ้นให้แก่คนนอก ซึ่งหากเราวางระบบเอาไว้ดี มีพัฒนาการในทิศทางที่ดีขึ้นทุกปี ก็ไม่ยากสำหรับผู้บริหารคนใหม่ที่จะเข้ามาสานต่อกิจการต่อจากเรา หรือเสนอขายหุ้นให้คนนอกโดยทำให้ธุรกิจของเราเป็นที่ต้องการของบุคคลภายนอก

เราจะเห็นได้ว่า การ Exit ของเจ้าของธุรกิจอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การวางแผนจึงไม่ใช่การมองแค่มูลค่าของธุรกิจเท่านั้น แต่หากจะต้องดำเนินการควบคู่กับการเงินส่วนบุคคลด้วย ยิ่งมีเวลาในการเตรียมตัวนานมากขึ้นเท่าไร ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า และทำให้เราสามารถส่งผ่านประสบการณ์ที่มีคุณค่านี้ให้แก่ผู้สืบทอดในรุ่นต่อไปได้อีกด้วย

 

ติดต่อเราบริษัท Idol Planner Consulting ตอนนี้เลย

ผู้นำด้านการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัว-กงสี คืองานถนัดของเรา

บริษัท ไอดอลแพลนเนอร์ จำกัด พร้อมช่วยสร้างความชัดเจนและความเป็นมืออาชีพให้กับธุรกิจครอบครัว ด้วยโซลูชั่นที่ออกแบบมาเพื่อธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะ พันธกิจของเราคือการช่วยเหลือให้ธุรกิจของครอบครัวคุณเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นปึกแผ่นให้กับครอบครัวของคุณ