ส่งต่อธุรกิจ และการวางแผนสืบทอด เป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่ทำให้กิจการของครอบครัวนั้นสามารถยืนหยัดต่อไปอีกหลายเจนเนอเรชั่น การส่งต่อธุรกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่มีใครสามารถบริหารบริษัทได้ตลอดไป ดังนั้นการวางแผนการส่งต่อธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อการส่งต่อธุรกิจที่ราบรื่น
การจะวางแผนส่งต่อธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ต้องใช้ความร่วมมือจากสมาชิกในครอบครัวทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของรุ่นปู่ หรือรุ่นพ่อเท่านั้น ทุกคนควรที่จะมีส่วนร่วมในการวางแผนการสืบทอด ภายใต้เป้าหมายหลักเดียวกัน คือ “ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ” ซึ่งการวางแผนการส่งต่อธุรกิจ มักจะใช้เวลาไม่น้อยและต้องการความใส่ใจจากทุกคนในครอบครัว
การวางแผนสืบทอดล่วงหน้านั้น สำคัญมาก
การส่งต่อหน้าที่ หรือความรับผิดชอบภายในธุรกิจครอบครัวมักจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และเป็นเรื่องที่ครอบครัวมักไม่พูดคุยกัน บางครอบครัวโชคดี ได้รุ่นพ่อ รุ่นปู่ที่ไว้ใจ และให้อิสระแก่รุ่นถัดมาได้บริหารงานอย่างเต็มที่ และเกษียณตัวเองออกไปดูแลอยู่ห่างๆ แต่ครอบครัวส่วนมากในกิจการครอบครัว รุ่นพ่อเรา หรือปู่เรามักจะยังไม่ปล่อยมือจากกิจการง่ายๆเพราะยังห่วงกิจการอยู่ หรือยังไม่ไว้ใจให้รุ่นต่อมาขึ้นมาสืบทอด เรียกได้ว่าอยากทำงานจนลมหายใจสุดท้าย ดังนั้นการวางแผนล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นเสมือนการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมให้รุ่นต่อไปได้เข้ามารับช่วงกิจการต่อ
1.เริ่มวางแผนตั้งแต่ตอนนี้
การวางแผนล่วงหน้า 5-10 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่ปรึกษาธุรกิจที่มีประสบการณ์มักจะแนะนำให้วางแผนด้านการสืบทอดตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งถ้ารวมอยู่ในการเขียนแผนธุรกิจตั้งแต่แรกจะเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีมาก ยิ่งคุณใช้เวลาในการเตรียมการเร็วเท่าไร การส่งต่อธุรกิจก็จะยิ่งราบรื่นยิ่งขึ้น
2.จัดประชุมครอบครัว โดยทุกคนที่เกี่ยวข้อง ต้องมีส่วนร่วม
ถ้าหากคุณเป็นคนวางแผนการสืบทอดด้วยตัวคุณเองคนเดียว กะว่าพอถึงเวลาก็ประกาศให้ทุกคนได้ทราบถึงแผนที่วางไว้เสร็จแล้ว แบบนี้จะเสี่ยงต่อปัญหาความขัดแย้งในอนาคตแน่นอน การวางแผนร่วมกันจะช่วยให้คุณทราบถึงความต้องการของคนที่อยากจะเข้ามาทำงานให้กับบริษัท รวมถึงคนที่ไม่อยากเข้ามามีส่วนร่วม การจัดสรรผลประโยชน์และหน้าที่ของคนที่จะเข้ามาสานต่อ
จะเริ่มยังไง? : การวางแผนอาจเริ่มจากการเลือกหัวข้อในการประชุม และผู้ดำเนินการประชุม เราแนะนำว่าบรรยากาศการประชุมควรจะเป็นแบบคนในครอบครัวคุยกัน มีความผ่อนคลาย ไม่มีความเป็นทางการจนเกินไป แต่หัวข้อในการพูดคุยต้องมีความชัดเจน
ซึ่งข้อดีของการจัดการประชุมแบบนี้จะช่วยสานสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ทำให้มีความเข้าใจในแต่ละประเด็นอย่างตรงกัน รวมถึงได้ทราบมุมมองของแต่ละบุคคลอีกด้วย
3. จัดสรรความรับผิดชอบ
ขั้นตอนต่อจากการเริ่มประชุมวางแผนคือการแจกจ่ายหน้าที่ให้กับรุ่นลูก รุ่นหลาน โดยการวางแผนควรจัดการเป็นระบบให้มีความชัดเจน เช่น จะให้ใครดูแลส่วนไหน แผนกนี้ใครดูแล เริ่มจากการแบ่งงานบางส่วนเพื่อดูความรับผิดชอบ และฝึกลูกหลานไปในตัว พอเค้าเริ่มมีประสบการณ์จึงค่อยๆเพิ่มความรับผิดชอบให้พวกเค้ามากขึ้น การทำแบบนี้จะทำทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง ทำให้การส่งต่อนั้นมีความราบรื่น
4.ส่งเสริมให้รุ่นต่อไปได้ออกไปหาประสบการณ์จากโลกภายนอก
ปัญหานี้ค่อนข้างคลาสสิกสุด เมื่อลูกเรียนจบมา พ่อ แม่ ก็อยากจะให้เข้ามารับช่วงต่อโดยทันที โดยที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษา และพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจที่รับช่วงต่อมาจากรุ่นพ่อ แม่ ทุกคนล้วนแนะนำว่า การออกไปทำงานกับบริษัทอื่นๆทำให้เค้าได้เปรียบ และได้นำความรู้กลับมาใช้บริหารธุรกิจที่บ้านได้เป็นอย่างดี การที่ออกไปทำงานกับที่อื่นจะช่วยให้เค้าได้เติบโตขึ้น รู้จักมีความรับผิดชอบมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะรับคำวิจารณ์ได้ดีขึ้น ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้มักจะหาได้ค่อนข้างยาก หรือหาไม่ได้กับการทำงานกับคนในครอบครัว
5.ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนสืบทอด
ผู้เชี่ยวชาญจะมีประสบการณ์ที่คุณไม่มี โดยผู้เชี่ยวชาญจะมีประสบการณ์ และความเข้าใจในการรับช่วงต่อธุรกิจ และมีกรณีศึกษาจากธุรกิจอื่นๆ เช่น
▶ ปัจจัยอะไรที่ทำให้การส่งต่อธุรกิจไม่ราบรื่น
▶ การปรับความเข้าใจระหว่างรุ่นปัจจุบัน และรุ่นที่กำลังจะขึ้นมาสืบทอด
▶ โครงสร้างบริษัท สมควรปรับหรือเปลี่ยนอะไรบ้าง
▶ การจัดสรรผลตอบแทน สวัสดิการให้กับคนในครอบครัว
▶ การวางแผนทรัพย์สินและการเงินระดับครอบครัว
ซึ่งการมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยตอบคำถามสำคัญเหล่านี้ให้กับคุณได้
6. กำหนดวันส่งต่อธุรกิจให้ผู้สืบทอด
เมื่อคุณทำการวางแผนการส่งต่อธุรกิจอย่างดีแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการกำหนดวันที่จะทำให้แผนของคุณมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณควรจะกำหนดให้มีวันที่ชัดเจนว่าเมื่อไรคุณพร้อมที่จะส่งต่อธุรกิจอย่างสมบูรณ์ การทำตามแผนที่กำหนดอย่างชัดเจนจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คนในครอบครัว หรือผู้รับช่วงต่อ ได้มีการเตรียมตัว ได้ทราบถึงหน้าที่ และความรับผิดชอบที่เค้าต้องดูแลหลังจากที่คุณก้าวลงจากตำแหน่งบริหาร
เราแนะนำ คนที่กำลังวางแผนส่งต่อธุรกิจ นอกจากการวางแผนส่งต่อธุรกิจแล้ว ควรมีการวางแผนเกษียณอายุเพื่อให้ตัวเองมีอิสระทางการเงินด้วย โดยอาจจะเป็นการวางแผนด้านการลงทุน หรือออมเงินไว้ใช้ในช่วงเกษียณ เป็นต้น