1. ด้านกฎหมาย
ครอบครัวส่วนใหญ่ขาดการจัดโครงสร้างบริษัทและการถือหุ้นที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจและขนาดของธุรกิจครอบครัวตนเอง
หนึ่งตัวช่วยในการจัดโครงสร้างธุรกิจก็เช่นการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง หรือบริษัทแม่ลูกเพื่อป้องกันความเสี่ยงของธุรกิจที่ทำ ไม่ให้มากระทบกับความมั่งคั่งของครอบครัว หากนึกภาพไม่ออก ลองคิดดูว่า บริษัทครอบครัวที่สะสมความมั่งคั่งมานาน ส่วนของผู้ถือหุ้นเติบโตทุกปี หากมีพนักงานสักคนหนึ่งประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้บริษัทต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนเงินมากกว่าทุนของผู้ถือหุ้นและกำไรสะสมรวมกัน นั่นก็หมายถึงว่า ครอบครัวต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ ความมั่งคั่งในบริษัทนี้สูญสลายไปเพราะความประมาทของใครแค่บางคน
การแยกธุรกิจที่มีความเสี่ยงกับไม่มีความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถือเป็นพื้นฐานเลยทีเดียว นอกเหนือจากนั้นยังมีเรื่องของการสร้างข้อตกลงเกี่ยวกับการขายและส่งต่อหุ้น แทนที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนตัว จะขายให้ใครก็ได้ จะยกให้ใครก็ได้ ซึ่งอาจทำให้หุ้นของครอบครัวกระจัดกระจายไปยังบุคคลภายนอก จึงสมควรที่จะทำสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นเพื่อให้มีผลบังคับทางกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการทำพินัยกรรม เพื่อให้การส่งต่อทรัพย์สินของครอบครัวเป็นไปในทิศทางที่ครอบครัวต้องการ แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมาย
2. ด้านครอบครัว
การอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันในธุรกิจครอบครัว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินๆทองๆมักเป็นสาเหตุของปัญหาทั้งเรื่องเล็กน้อยและเรื่องใหญ่ ดังนั้น หากต้องการที่จะลดปัญหาของการอยู่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกัน สิ่งที่ควรจะต้องดำเนินการเป็นเรื่องแรกก็คือ การสร้างความชัดเจน ซึ่งอยู่ในเรื่องของการสื่อสาร มีเรื่องอะไรบ้างที่ควรจะต้องสร้างข้อตกลงร่วมกัน
ในกรณีที่เป็นครอบครัวใหญ่ อาจกำหนดเรื่องการสื่อสาร การจัดสรรผลประโยชน์ นโยบายการจ้างงานของสมาชิกครอบครัว แผนการถือครองทรัพย์สิน รวมถึงการขจัดความขัดแย้งในอนาคต ไว้ในธรรมนูญครอบครัว การจัดทำธรรมนูญครอบครัวจะช่วยให้สมาชิกทุกคนเห็นความชัดเจนและแผนการการอยู่ร่วมกัน เพื่อลดโอกาสการเกิดปัญหาระหว่างกันในอนาคต
ส่วนครอบครัวที่สมาชิกมีกันไม่กี่คน เช่น อาจจะมีแค่พ่อ แม่ และลูก ก็ควรจัด “ประชุมครอบครัว” ที่มีจุดประสงค์และเนื้อหาที่มีความเป็นทางการมากขึ้น เอาเนื้อหาบางอย่างที่เหมาะสมกับครอบครัวตัวเองมาประชุมกัน เช่น
- ทรัพย์สินแต่ละชิ้น ให้เป็นของส่วนตัวหรือกงสี
- อสังหาริมทรัพย์ ใช้ชื่อใครถือครอง มีผลกระทบอย่างไร
- หุ้นของธุรกิจครอบครัว จะวางแผนอย่างไร
- กงสีมีไว้ดูแลครอบครัวหรือสร้างความขัดแย้งกันแน่
3. ด้านบุคคล
ไม่ว่าเราจะวางแผนระดับธุรกิจและครอบครัวดีอย่างไรก็ตาม หากขาดในเรื่องของการจัดการด้านการเงินของสมาชิกครอบครัวรายบุคคลที่ดีพอ ในอนาคตหากมีปัญหาทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาล การเกษียณอายุ การจากไปก่อนวัยอันควร หรือภาระทางการเงินอื่นๆ ผลที่เกิดขึ้นก็หนีไม่พ้นที่จะกระทบไปถึงระดับครอบครัวหรือธุรกิจ
รวมไปถึงเรื่องการจัดทำพินัยกรรม ที่หากเสียชีวิตไปโดยไม่มีพินัยกรรม ครอบครัวก็อาจจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง การฟ้องร้อง การตกทอดของทรัพย์สินครอบครัวไปยังคนนอกที่เป็นเขย สะใภ้ เป็นต้น